Karpman Drama Triangle
รู้ไหมคะว่า เราทุกคนต่างอยู่ในวงจรของดราม่าชีวิตของตัวเองไม่มากก็น้อย ตราบใดที่เรายังเป็นมนุษย์ปุถุชนแล้วนั้น เรามักจะยังเล่นอยู่ในบทละครชีวิตของตัวเอง โดยมีอย่างน้อย 1 ใน 3 บทบาทดังนี้
1. Victim (เหยื่อ) - "Poor me!" (ฉันน่าสงสารจัง!)
ผู้เป็นเหยื่อมักจะรู้สึกว่าเค้าไม่สามารถที่จะควบคุมอะไรได้ ทำไมทุกอย่างถึงเกิดขึ้นกับเค้า รู้สึกไร้พลังอำนาจที่จะยืนหยัด หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ด้วยตัวเอง สิ่งที่ผู้เป็นเหยื่อมักจะทำคือ การบ่น การต่อว่าสถานการณ์หรือผู้ที่เค้ารู้สึกถูกคุกคาม รวมถึงการไม่กล้าตัดสินใจ และมองตัวเองเป็นผู้น่าสงสาร
2. Rescuer (ผู้ช่วยชีวิต) - "Let me help you" (เดี๋ยวฉันช่วยคุณเอง)
ผู้ช่วยชีวิตมักจะรู้สึกว่าเค้าเป็นเสมือนฮีโร่ คอยช่วยเหลือผู้อื่น เค้าจะรู้สึกผิดถ้าเค้าไม่สามารถจะช่วยเหลือได้ แท้ที่จริงแล้ว เค้าหนีปัญหาของตัวเองโดยการไปช่วยเหลือผู้อื่นแทน เพื่อที่จะทำให้เค้ารู้สึกดีกับตัวเอง ซึ่งการช่วยเหลือนี้มักจะส่งผลลบกับผู้ที่เป็น Victim (เหยื่อ) เช่นกัน ทำให้เค้าสามารถเล่นบทเหยื่อไปได้เรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องหยุด
3. Persecutor (ผู้ข่มเหง) - "It's all your fault" (มันคือความผิดของคุณทั้งหมด)
ผู้ข่มเหง มักเป็นผู้มีบทบาทในการใช้อำนาจควบคุม กดดัน ต่อว่า วิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ผู้อื่นรู้สึกด้อยกว่าตัวเอง เพื่อหลีกหนีความรู้สึกไม่ปลอดภัย หรือความรู้สึกที่ไม่สามารถควบคุมอะไรได้ของตัวเอง
ลองดูกันนะคะว่า เราใช้ชีวิตอยู่ในบทบาทไหนมากที่สุด
แล้วเราจะออกจากวงจรนี้ได้อย่างไร?
David Emerald Womeldorff ได้แนะนำให้เปลี่ยน "ดราม่า" เป็น "The Empowerment Dynamic (ไดนามิกการสร้างพลัง)" เข้าไปแทนที่ค่ะ
แทนที่จะเป็น Victim (เหยื่อ) จงเป็น Creator (ผู้สร้าง)
แทนที่จะเป็น Rescuer (ผู้ช่วยชีวิต) จงเป็น Coach (โค้ช)
แทนที่จะเป็น Persecutor (ผู้ข่มเหง) จงเป็น Challenger (ผู้ท้าทาย)
เปลี่ยนจากการติดกับดักความเป็น Victim (เหยื่อ) และควบคุมอะไรไม่ได้ มาเป็น Creator (ผู้สร้าง) ที่เลือกที่จะรับผิดชอบชีวิตของตัวเอง และตอบสนองกับสิ่งที่ต้องการของตัวเอง โดยมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาและผลลัพธ์
เปลี่ยนจากการ Rescue (ช่วยชีวิต) ผู้อื่น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาและความไม่มั่นคงของตัวเอง มาเป็น Coach (โค้ช) ที่จะคอยตั้งคำถามเพื่อพาผู้ต้องการความช่วยเหลือไปข้างหน้า โดยให้เค้าสามารถเลือกแนวทางการแก้ปัญหาชีวิตของเค้าเอง และยืนได้ด้วยขาของตัวเอง
เปลี่ยนจากการเป็น Persecutor (ผู้ข่มเหง) ใช้อำนาจข่มขู่ กดผู้อื่นเพื่อให้ตัวเองรู้สึกแข็งแกร่ง มาเป็น Challenger (ผู้ท้าทาย) ที่จะกระตุ้นการเปลี่ยนแปลง และการเรียนรู้เติบโตของผู้อื่นให้เกิดขึ้น
มาออกจากวงจรดราม่า และสร้างบทละครใหม่ที่ดีกว่าเดิมให้กับตัวเองกันนะคะ
มาเรียนรู้เติบโตไปด้วยกันนะคะ
อาร์ต
Comments